วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
ข่าวทั่วไทย

โคราช : ชาวบ้านอำเภอวังน้ำเขียว วอนรัฐประกาศ one map แนวเขต 43 เป็นกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาที่ดินข้อพิพาท

ชาวบ้านอำเภอวังน้ำเขียว โคราช วอนให้หน่วยงานรัฐประกาศ one map แนวเขต 43 เป็นกฎหมาย แก้ปัญหาให้ชาวบ้านให้ถูกจุด เพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีเพิ่ม หลังปัจจุบันถูกดำเนินคดีไปแล้ว 352 คดี

วันที่ 6 สิงหาคม 2565 ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้านไทยสามัคคี ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา นายอดิศร นุชดำรงค์ อดีตอธิบดีกรมป่าไม้และเป็นหัวหน้าคณะตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินข้อพิพาท เรื่องประกาศเขตป่าอุทยานทับลาน ทับที่ประชาชนครอบครองอยู่อาศัยมาก่อน เขต อ.วังน้ำเขียว อ.ปักธงชัย อ.ครบุรี และอ.เสิงสาง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน โดยมี นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รอง ผวจ.นครราชสีมา นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ส.อบจ.นม.เขต.อ.วังน้ำเขียว นายสิทธิชัย บรรพต ผอ.สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.นม กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สปก.จ.นม รวมไปถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี เข้าร่วมสรุปปัญหาในครั้งนี้

นายภัคพล เขียวสลับ ในฐานะตัวแทนราษฎร อ.วังนํ้าเขียว ผู้ได้รับความเดือดร้อน เปิดเผยว่า คณะประชุมได้มีการพูดเรื่องของ one map ซึ่งเป็นเส้นเดียวกับแนวเขต 43 หรือไม่ ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัย ซึ่งประชาชนจะอยู่ได้จะต้องเป็นพื้นที่อนุรักษ์ หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่ใช่แนวเขต 43 เดิม ซึ่งอนาคตชาวบ้านจะต้องเดือดร้อน เพราะถนนฝั่งหนึ่งจะเป็น ส.ป.ก ส่วนอีกฝั่งจะเป็นเขตอุทยาน จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านแตกแยก โดยเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชนได้ประกาศให้หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ เป็นหนึ่งใน 20 หมู่บ้าน ที่ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งเราต้องการให้หลายหน่วยงานเข้าไปพัฒนาอาชีพ ในส่วนของโครงการ one map ที่มีการเริ่มตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันผ่านมาได้ 5 ปีแล้ว ปัจจุบันไม่มีอะไรคืบหน้าในการช่วยเหลือชาวบ้านทำให้ชาวบ้านได้แต่เฝ้ารอคอยความหวัง ซึ่งกรมอุทยานก็พยายามจะดำเนินคดีกับชาวบ้าน ที่ผ่านมา 352 กว่าคดี โดยชาวบ้านก็ไปขอศาลเมตตาให้ชะลอในการดำเนินคดีหรือการจำหน่ายคดีชั่วคราว หากมีความชัดเจนว่า one map จะออกเมื่อไหร่ ชาวบ้านก็จะไปเรียนศาลเพื่อยืดเวลาออกไป ณ วันนี้ดูแล้วยังไม่ชัดเจน ปัจจุบันการพูดคุยส่วนภาคราชการเหมือนพูดไปลอยๆไม่มีอะไรชัดเจน ปัจจุบันชาวบ้านรอเพียงรับกรรม หากอยากให้เรื่องนี้จบกันทางรัฐจะต้องเลือกแนวเขต 43 มาเป็นกฎหมาย อันเดียวกับ one map จะทำให้จบทุกอย่าง หากอุทยานยังใช้แนวเขต 24 ชาวบ้านก็ต้องถูกดำเนินคดีต่อไป เพราะมันเป็นกฎหมายคนละฉบับ

นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ส.อบจ.นม.เขต.อ.วังน้ำเขียว เปิดเผยว่า ได้มีหลายหน่วยงานมารับฟังปัญหา เพื่อหาแนวทางแก้ไขและเป็นทางออกที่ถูกต้อง หากนำกฎหมายมาพูดกันก็จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวค่อนข้างยาก สำหรับประชาชนที่ถูกดำเนินคดี ได้มีการเสนอว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดีอยากให้รัฐหรือหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น อัยการ กรมอุทยาน อยากให้ถอนหรือยกฟ้องก่อน เพราะชาวบ้านไม่ได้หนีไปไหน พิสูจน์ได้ว่าแนวเขตที่ประกาศถูกต้องค่อยมาแจ้งดำเนินคดีใหม่ ที่ผ่านมาผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับความเป็นธรรม ผู้กล่าวหาก็ยังไม่ยืนยันแนวเขตได้อย่างชัดเจน จึงขอร้องให้ยกคดีนี้ไปก่อน ในส่วนแนวเขตปี 43 ที่มีการปักเสาแนวเขต มีการตั้งงบประมาณ จากกรมอุทยาน จากมติคณะครม. แล้วนำมาดำเนินการร่วมกับทุกฝ่ายจนสำเร็จแล้วแต่ยังไม่ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ถือว่าเป็นความผิดของรัฐบาลมากกว่าประชาชน ในส่วนโครงการ one map ในพื้นที่โคราชจัดให้เป็นลำดับที่ 3 ในการแก้ไขปัญหา ตนมองว่าต้องรีบเร่งแก้ไขให้เป็นลำดับแรก เพราะถือว่าประชาชนเดือดร้อน หากแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด ก็จะส่งผลกระทบกับประชาชนโดยตรง หลังจากคณะทำงานได้มีการยืนยันว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในรัฐบาลยุคปัจจุบันตนมองว่า ชาวโคราชถูกหลอกมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งครั้งนี้ก็ยอมให้หลอกอีกครั้งนึ่ง ซึ่งจะรอดูผลงานว่าจะหลอกทำแล้วซ้ำเล่าหรือไม่

นายอดิศร นุชดำรงค์ อดีตอธิบดีกรมป่าไม้และเป็นหัวหน้าคณะตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินข้อพิพาท เปิดเผยว่า ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2524 นับถือวันนี้ก็ 41 ปีมาแล้ว ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน โดย 300 กว่าคนถูกดำเนินคดีไปแล้ว ส่วนบางรายอยู่ระหว่างรอการตัดสิน จึงทำให้ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเขตอำเภอวังน้ำเขียว ได้มีการร้องเรียนไปยังพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หลังจากได้รับเรื่องได้มอบหมายให้ลงมารับข้อมูลรวมไปถึงข้อเท็จจริงกับชาวบ้านรวมไปถึงปัญหาความเดือดร้อน ก่อนจะนำข้อมูลทั้งหมดไปรายงานและหาทางออกช่วยเหลือชาวบ้าน ตอนนี้ติดปัญหาเรื่องขอของข้อขัดแย้งของกฎหมาย ซึ่งจะต้องใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหาเกิดปัญหาทับซ้อนของกรมอุทยาน รวมไปถึงกฎหมายของกรมปฏิรูปที่ดิน และอีกหลายหน่วยงานที่ทับซ้อนกัน ของแนวเขต จึงมีโครงการ one mapการแก้ไขปัญหา จึงต้องเดินตามไปตามโครงการ ซึ่งมีกรรมการ one map อยู่แล้ว โดยกำลังเร่งดำเนินการ ซึ่งมีทั้งหมด 3 กลุ่มโดยจังหวัดนครราชสีมาอยู่ในกลุ่มที่ 3 ที่กำลังได้รับการแก้ไข จึงต้องกลับไปและผลักดันให้ขั้นตอนต่างๆพิจารณาสำเร็จรวดเร็วยิ่งขึ้น โครงการ one map เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 ตลอดระยะเวลาก็มีการดำเนินการทุ่มเทมาโดยตลอดซึ่งมันก็มีขั้นตอนในการทำงาน จากการทับซ้อนของพื้นที่ซึ่งต่างหน่วยงานก็ถือกฎหมายของตัวเองจึงทำให้การแก้ไขปัญหานั้นยาก หากมีการพูดคุยให้ตกผนึกไปในทิศทางเดียวกันนั้นจะต้องใช้เวลา ขอยืนยันกับชาวบ้านว่าจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลแต่โครงการ one map จะต้องเดินต่อเพราะถือเป็นกฎหมายไปแล้ว ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ดำเนินการต่อเนื่อง ไม่มีการยกเลิกอย่างแน่นอน.

ภาพ-ข่าว ณัฐพงศ์ อรชร ผู้สื่อข่าวประจำ จังหวัดนครราชสีมา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *