วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
ข่าวทั่วไทย

ชาวอำเภอดอนตาล ร่วมลงแขกเกี่ยวข้าวช่วยเหลือสาวใหญ่พิการทางการได้ยิน

มุกดาหาร-นายอำเภอดอนตาล จัดกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว โดยนำกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน เกี่ยวข้าวช่วยชาวบ้านที่พิการทางการได้ยิน

 

วันนี้ 19 พ.ย 65 นายชาคริต ชุมจันทร์ นายอำเภอดอนตาล เป็นประธานในการจัดกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวในเขตพื้นที่ตำบลเหล่าหมี โดยมี นายปราโมท ศรีมุกดา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเหล่าหมี คณะผู้บริหาร ,นายสนั่น บุญจันดา กำนันตำบลเหล่าหมี ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครองตำบลเหล่าหมี ,นายกาจพล ผิวงาม ผอ.รพ.สต.เหล่าหมี, สำนักงานเกษตรอำเภอดอนตาล นายศักดิ์ชัย ซามงค์ นางสาวดาวใจ ทองออน นายนพพร แสงคำพระ ปลัด อบต.เหล่าหมี พร้อมด้วยพนักงาน ลูกจ้าง อบต.เหล่าหมี ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรมดังกล่าว

 

โดยพื้นที่ในการจัดกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นพื้นที่ทำนา ของนางควร ซาเสน อายุ 62 ปี มีความพิการทางการได้ยิน มีบุตร 2 คน สามีได้เสียชีวิต อยู่ที่บ้านเลขที่ 176 ม.6 บ้านโคกสว่าง พื้นที่นาข้าวประมาณ 8 ไร่

 

 

ทั้งนี้ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวนี้เป็นประเพณีไทยที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจ ที่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังสามารถช่วยสร้างความสมัครสมานสามัคคีกันในหมู่บ้านได้อีกด้วย นอกจากนี้ทำให้เกิดวัฒนธรรมและการขับร้องเพลงอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ ผู้ที่ประกอบอาชีพทำนา ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นประเพณีที่เจ้าของนาจะบอกเพื่อนบ้านให้รู้ว่าจะเกี่ยวข้าวเมื่อใด และเมื่อถึงวันที่กำหนดเจ้าของนาก็จะต้องปักธงที่ที่นาของตนเพื่อให้เพื่อน บ้านหรือแขกที่รู้จะได้มาช่วยเกี่ยวได้ถูกต้องทั้งนี้เจ้าของนาจะต้องจัด เตรียมอาหาร คาวหวาน สุรา บุหรี่ น้ำดื่ม ไว้รองรับด้วย

 

ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นประเพณีไทยอีกอย่างหนึ่งของชาวนาไทย ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยากในสภาพปัจจุบัน ชาวอีสานส่วนใหญ่ จะเป็นผู้มีน้ำใจไมตรี ดังนั้นในการทำกิจการ งานใดๆ ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่ จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะทุกคนต่างมีน้ำใจให้กันและกัน ช่วยงานกันคนละมือละไม้ใช้เวลาไม่นานงานก็สำเร็จลุล่วงไปได้สมปรารถนา การทำงานแบบนี้ คนอีสานเรียกว่า “ลงแขก”

 

การลงแขกในภาคอีสานก็คือการบอกกล่าวขอแรงบรรดาญาติสนิทมิตรสหาย ให้มาช่วยทำงานนั่นเอง งานที่จะลงแขกกันนั้นอาจจะเป็นงานส่วนรวมหรืองานส่วนตัวก็ได้ สำหรับงานส่วนตัวนั้นส่วนมากมักจะเป็นงานใหญ่สุดกำลังคนในครอบครัวจะทำได้ หรืออาจจะเป็นงานหนักแต่จำเป็นต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว จึงต้องบอกกล่าวให้ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยเหลือเพื่อให้งานเสร็จสิ้นไป งานที่มักลงแขก เช่น การลงแขกทำนา ซึ่งมีการลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกตีข้าว (นวดข้าว) เป็นต้นนอกจากจะมีประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวแล้ว ยังมีประเพณีลงแขกทำนา ด้วยการทำนาเป็นงานหนักและในรอบปีหนึ่งต้องใช้ แรงงานมากถึง 4 วาระด้วยกันคือ ช่วงการดำนา การเกี่ยว การตี และเอาข้าวขึ้นเล้า

 

 

ดังนั้นการทำงาน ทุกๆ ระยะ ชาวนาส่วนมากจะใช้วิธีการลงแขก อาศัยแรงจากญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยกัน เมื่อลงแขกในนาตนเสร็จก็เปลี่ยนไปลงแขกนาของคนอื่นๆ ต่อไปเป็นการตอบแทน ซึ่งเป็น การแสดงน้ำใจที่มีให้กันและกัน โดยเฉพาะในปัจจุบันลูกหลานคนหนุ่มสาวไปทำงานต่างถิ่น ปล่อยให้พ่อแม่และคนแก่อยู่บ้าน การลงแขกจึงยังมีความจำเป็นสำหรับชาวนา การลงแขก เป็นวัฒนธรรมประเพณีแห่งความเอื้อเฟื้อและเกื้อกูลกันของสังคมคนในอดีต ที่นับวันจะสูญหายไปเนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินตราเป็นตัวกำหนด

 

“ลงแขก” มีความหมายถึงน้ำใจที่ผู้คนในชุมชนมอบให้กัน ในการช่วยเหลือกิจการงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว ประเพณีเอามื้อเอาแรงนี้จึงเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่ง กันและกัน สร้างความสมัครสมานสามัคคี ทำให้งานเสร็จอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องอาศัยการว่าจ้าง และยังถือเป็นโอกาสที่ทำให้หนุ่มสาวได้รู้จักอุปนิสัยใจคอและพบรักกันได้อีก ด้วยเนื่องจากชีวิตของเกษตรกรไทยเกี่ยวพันกับอาชีพด้านเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น การทำนา การทำไร่ ทำสวน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของฟ้าและฝน จะต้องเร่งรีบในการเพาะปลูก ปักดำ เก็บเกี่ยว ในครอบครัวใดมีแรงงานมากก็จะทำได้เร็วและทันเวลา แต่ครอบครัวที่มีคนน้อยก็จะทำสำเร็จได้ยาก ณ จุดนี่เองที่ก่อให้เกิดประเพณี ลงแขก เพื่อช่วยเหลือกันด้านแรงงาน ไม่มีค่าจ้างตอบแทนมีเพียงน้ำใจเลี้ยงอาหารข้าวปลาตามแต่จะหาได้ในท้องถิ่นนั้น.

 

ภาพ-ข่าว อนุศักดิ์ – เสาวภา แสนวิเศษ ผู้สื่อข่าวประจำ จ.มุกดาหาร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *